เทคนิคง่ายๆ ช่วยให้ความจำดีขึ้น

          ปากกาที่ถูกถือค้างเอาไว้อยู่เหนือกระดาษที่เราต้องการจะจดอะไรลงไป แต่เรากลับลืม และเริ่มหงุดหงิด เพราะนึกไม่ออกว่าจะเขียนอะไรลงไป หรือการเดินวนไปวนมาเพราะนึกไม่ออกว่าจะไปหยิบของอะไร ไม่ว่าจะเป็นการทำข้อสอบที่คำตอบมักจะติดอยู่ที่ปาก ไม่สามารถคิด เขียนออกมาได้ เหตุการณ์เหล่านี้อาจทำให้เราอารมณ์เสีย หรือพลาดในสิ่งที่อยากจะทำไปเลยก็ได้

          อาการหลงลืมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ถ้าเราลืมเรื่องสำคัญก็อาจที่จะส่งผลกระทบต่อเราได้ อย่างวัยเรียนที่จะเรียนเยอะ ใช้ความจำค่อนข้างมากในแต่ละวัน และก็ต้องจำเนื้อหาที่เรียนไปให้ได้มากที่สุด หรือการลืมเรื่องเล็กๆน้อยๆ ก็อาจทำให้เราหงุดหงิด ทำให้วันนั้นกลายเป็นวันที่แย่เลยก็ได้ เราจึงมีคำแนะนำง่ายๆที่จะมาช่วยทำให้ความจำของคุณดีขึ้น ก่อนที่การลืมเรื่องเล็กๆน้อยๆจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคต

  • การออกกำลังกาย

          การออกกำลังกายไม่เพียงแต่จะทำให้ร่างกายของเราแข็งแรงขึ้น ยังช่วยในเรื่องของความคิดทั้งทางตรงและทางอ้อม ประโยชน์ทางตรงมาจากความสามารถในการลดความต้านทานของร่างกายต่ออินซูลินได้ (ความต้านทานต่ออินซูลินเป็นภาวะของเซลล์ร่างกายเมื่อความสามารถในการตอบสนองต่อการกระทำของฮอร์โมนอินซูลินลดลง ทำให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออินซูลินที่เพิ่มขึ้นไม่สามารถรับมือกับน้ำตาลในกระแสเลือดได้อีก ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดเบาหวาน) ลดการอักเสบ และกระตุ้นให้สมองได้หลั่ง Growth factors ที่ช่วยในเรื่องเซลล์สมองให้เจริญเติบโต เพิ่มปริมาณและสารอาหารที่เลือดนำไปเลี้ยงสมอง

          สำหรับทางอ้อม สมองช่วยส่งเสริมอารมณ์ทีดี และการนอนหลับ ช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดปัญหาด้านความจำในภายหลัง ดังนั้นการออกกำลังกายจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญและปฎิบัติได้ง่ายในทุกๆวัน แต่การออกกำลังกายอย่างเดียวก็คงจะไม่พอสำหรับในยุคนี้ที่มีเรื่องราวให้จำมากมาย ทั้งการเรียน เรื่องงาน เรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน ที่มีข้อมูลไหลผ่านตัวเราอยู่ตลอดเวลา จึงต้องมีการออกกำลังกายสมองไปด้วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับรู้ จดจำให้มากขึ้น

          การฝึกออกกำลังกายสมอง จะช่วยให้ความจำดีขึ้น การดูแลสมองด้วยการทำสมาธิ การเรียนรู้สิ่งต่างๆ อย่างต่อเนื่อง การรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ การทำกิจกรรมต่างๆ ก็จะช่วยให้สมองมีความสามารถในการจำที่ดีขึ้น ทางที่ดีที่จะช่วยในการพัฒนาสมองคือการกระตุ้นหลายๆทางพร้อมกัน รวมทั้งเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย และพฤติกรรมสุขภาพ หรืออารมณ์ที่ซึมเศร้าจะส่งผลเสียต่อสมอง

           เทคนิคในการฝึกออกกำลังกายให้สมอง การฝึกความจำง่ายๆ เช่น การฝึกจำสิ่งที่ต้องไปซื้อของ แล้วอีก1ชั่วโมงก็ทบทวนว่าเราจำได้แค่ไหน เป็นต้น การฝึกคิดเลขในใจ ฝึกการลิ้มรสอาหาร เรียนทำอาหาร ช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสได้หลายทาง ซึ่งจะทำให้ฝึกสมองหลายส่วนไปพร้อมกัน หรือจะเป็นการลองทำอะไรใหม่ที่ไม่เคยทำ เช่น การเรียนภาษาต่างประเทศ หัดเล่นเครื่องดนตรี หัดเล่นกีฬาใหม่ๆ การเรียนรู้ที่จะใช้ทักษะหลายอย่างไปพร้อมกันก็จะเป็นการฝึกสมองไปในตัวด้วย

  • กำจัดความเครียด

           ความโกรธหรือความกังวลเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความเครียด ซึ่งส่งผลเสียโดยตรงกับสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจดจำ ในหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด อาการซึมเศร้าเป็นสิ่งที่ทำร้ายสมองได้มากที่สุด เมื่อเรามีอาการซึมเศร้าจะทำให้สารคอร์ติซอล หลั่งออกมามากขึ้น ซึ่งหากมีสารนี้อยู่บริเวณสมองส่วนที่เกี่ยวกับความจำระยะสั้น อาจทำลายความสามารถในการจดจำสิ่งใหม่ๆได้ ดังนั้นเมื่อรู้สึกว่าตนเองมีอารมณ์ซึมเศร้า หรือเครียดควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยเร็ว

  • นอนหลับให้สนิท

           การนอนหลับ 7-8 ชั่วโมงจะช่วยในเรื่องความจำได้ เพราะระหว่างที่เรากำลังนอนหลับ สมองจะซึมซับข้อมูลใหม่ที่เพิ่งได้รับมา แล้วเก็บบันทึกไว้เป็นความจำระยะสั้น และพัฒนาต่อไปเป็นความจำระยะยาว ดังนั้นหากพักผ่อนไม่เพียงพอก็จะทำให้สมองทำงานได้ไม่เต็มที่ นอกจากการนอนหลับแล้ว การงีบหลับก็ช่วยทำให้สมองเรียนรู้ได้ดีถึงข้อมูลที่เพิ่งเรียนรู้ไป ก็เป็นการช่วยในเรื่องการจดจำได้เช่นกัน

  • จดบันทึก

          การจดบันทึก เรื่องราวที่เจอในแต่ละวัน หรือการอ่านแบบออกเสียงจะช่วยให้การพัฒนาความสามารถในการจำดีขึ้น รวมไปถึงการอธิบายหรือเล่าเรื่องต่างๆก็ช่วยได้ เช่น นักเรียนสอนหรืออธิบายความรู้ให้กับเพื่อนๆก็จะเป็นการดึงเอาความจำในเรื่องนั้นมาใช้ ทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น และสามารถที่จะจดจำได้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสมอง

          น้ำหนักสมอง 50 – 60% คือไขมัน ซึ่งสำคัญต่อเซลล์เป็นอย่างมาก การรับประทานอาหารที่ประกอบไปด้วยไขมันดีจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาความจำระยะยาว และช่วยสร้างความแข็งแรงให้เซลล์สมอง อาหารที่มีไขมันดี โอเมก้า 3 สูง ประกอบด้วย ปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู เป็นต้น ปลาน้ำจืด เช่น ปลาดุก ปลาช่อน รวมถึงไข่แดง สาหร่ายทะเล ฟักทอง งา น้ำมันมะกอก นี่เป็นตัวอย่างอาหารที่มีไขมันดีสูง แต่ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ และควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด เพราะมีแต่ไขมันที่ไม่ดีและสงผลเสียต่อทั้งร่างกายและสมอง

  • จำเป็นภาพ เน้นสี

          ในการจดจำสิ่งต่างๆ ที่เป็นภาพจะจำได้ง่ายกว่า ซึ่งการให้ความสนใจและการจดจำรูปภาพในหนังสือ จะทำให้เราจำได้ดีกว่า หรือการจินตนาการสิ่งที่เราต้องทำออกมาในรูปแบบภาพ ก็ช่วยในการจำได้ รวมไปถึงการใช้ปากกาสีต่างๆ ไฮไลท์ในส่วนสำคัญเอาไว้ ก็จะช่วยให้เราจดจำข้อความเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น

          การที่เราคิดว่าการลืมเรื่องเล็กน้อยๆอาจไม่เป็นไรก็แค่ครั้งคราว แต่ถ้าเป็นบ่อยครั้งขึ้นก็อาจส่งผลทั้งทางอารมณ์และสมอง อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ตามมาภายหลังได้ ดังนั้นควรฝึกความจำให้ดีขึ้นเพื่อวันหน้าจะได้ยังจำเรื่องราวต่างๆได้อย่างแม่นยำ

 

 

อ้างอิง

https://www.honestdocs.co/regular-exercise-changes-brain-improve-memory-thinking-skills

http://www.th.rowland98.com/krasota-i-zdorove/40380-rezistentnost-k-insulinu-chto-eto-takoe.html

https://www.thairath.co.th/content/488820

https://www.bangkokhospital.com/index.php/th/diseases-treatment/brain-food

https://www.jobthai.com

เพจ DrBear Lifestyle Coach

 

Leave a comment