ผ้าซิ่นตีนจก บ้านหาดเสี้ยว

เครื่องแต่งกายคืออีกหนึ่งสิ่งที่สามารถบอกตัวตน บอกเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นได้ ในอดีตเพียงแค่เรามองเห็นผ้าไทยที่สวมใส่ก็สามรถแยกได้ว่าบุคคลนั้นมาจากที่ใด เมื่อยุคสมัยเริ่มเปลี่ยนไปก็ทำให้ความนิยมของผ้าไทยหายไปด้วย แต่ในปัจจุบันมีการรณรงค์อนุรักษ์ผ้าไทย โดยการที่ภาครัฐขอความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน หรือสถานที่ราชการต่างๆ ให้แต่งกายผ้าไทยทุกวันศุกร์ของสัปดาห์ หรือการที่ภาครัฐจัดงานต่างๆ และเชิญชวนให้ผู้เข้าชมแต่งกายผ้าไทยชมงาน หรือแม้แต่กระแสของละครบุพเพสันนิวาสก็ทำให้ผู้คนหันมาสนในผ้าไทยกันมากขึ้น

ในประเทศไทยมีผ้าไทยที่หลายคนอาจรู้จัก หรือคุ้นหูกันมากที่สุดคือ ผ้าไหมแพรวา ผ้ามัดหมี่ หรือผ้าปาเต๊ะ เราจึงขอแนะนำผ้าซิ่นตีนจกที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยพวนตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ที่หลายคนอาจจะไม่เคยได้ยิน มาให้รู้จักกันในวันนี้

ผ้าซิ่นตีนจกหาดเสี้ยวแต่เดิมเป็นซิ่นต่อกันสามชิ้น ลายขวางแบบซิ่นล้านนาไทย มักเป็นผ้าฝ้ายอาจมีไหมสลับบ้างแต่ไม่ค่อยพบ ซิ่นหาดเสี้ยวมี 2 ชนิด คือ ซิ่นธรรมดาใช้ใส่อยู่กับบ้านและทำงาน และซิ่นตีนจกที่ใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น งานบุญ งานเทศกาลและพิธีการสำคัญ ซิ่นธรรมดามักเป็นซิ่นพื้นลายขวางลำตัว มีเชิงเป็นแถบสีดำและสีแดงอมส้ม ส่วนซิ่นตีนจกนั้นจะประกอบด้วยสามส่วนคือ หัวซิ่น (ส่วนบน) ตัวซิ่น (ส่วนกลาง) และตีนซิ่น (ส่วนล่าง) ตีนจกคือเชิงซิ่นที่ใช้เทคนิคการควักหรือล้วงด้วยมือ ซึ่งอาจใช้ขนเม่น หรือไม้ช่วยก็ได้ ทำให้เกิดลวดลายบนผืนผ้าสลับสีสันสวยงาม ลายตีนจกของหาดเสี้ยวจะมีลักษณะการทอที่ทอคว่ำหน้าลายลง ลวดลายที่ทอมักเป็นลายเรขาคณิตเป็นหลัก ลายที่พบมีอยู่ 9 แบบด้วยกัน คือ

 

 ลายเครือน้อย

  1. ลายเครือน้อย

เป็นลายง่ายๆ มีลายประกอบไม่มาก เป็นลายให้เด็กหญิงฝึกหัดทำตีนจก แม่ลายเครือน้อยจะมีลายเล็กประกอบ คือ ลายนกหมู่ ลายสร้อยหมาก และลายสร้อยสา ในสมัยโบราณเครือน้อยนิยมต่อกับซิ่นมุก

 

ลายเครือกลาง

  1. ลายเครือกลาง

เป็นลายหลักที่มีกรอบรูปร่างลายเครือน้อยเพียงแต่มีความยากเย็นในการจกลายเพิ่มมากขึ้น ส่วนประกอบของลายหลักนี้เป็น ลายนกคาบ ลายดอกหมี่ และลายสร้อยสา ต้องต่อกับซิ่นเข็น

 

ลายเครือใหญ่

  1. ลายเครือใหญ่

เป็นลายหลักที่มีดอกไม้อยู่ตรงกลางเครือ ส่วนประกอบของลายหลักนี้เป็นลายนกคุ้ม ลายนกคาบ ลายเครือขอ และต้องต่อกับซิ่นมุก

 

ลายมนสิบหก

  1. ลายมนสิบหก

เป็นลายหลักที่มีขอสิบหกขอ รูปร่างของลายมีลักษณะกลม ภาษาพื้นบ้านจะเรียกว่า มน (กลม) ลายนี้เป็นลายที่สวยงามมากกว่าลายอื่นๆ ส่วนประกอบของลายหลักนี้จะเหมือนกับลายอื่นทั่วไป ลายนี้ต้องต่อกับซิ่นตาเติบ

 

ลายสิบสองหน่วยตัด

  1. ลายสิบสองหน่วยตัด

เป็นลายหลักที่มีขอ จำนวนสิบสองดขอ ประกอบกันเป็นดอกที่มีขาพันทำเป็นสามเหลี่ยมและยังมีนกคาบหรือหงส์ตัวเล็กอยู่ตรงกลางของแม่ลายด้วย ลายหลักลายนี้ต่อกับซิ่นตาหว้า

 

ลายน้ำอ่าง

  1. ลายน้ำอ่าง

เป็นลายหลักที่มีนกหงส์สองตัวคาบดอกไม้ร่วมกัน คล้ายกับว่าหงส์สองตัวคาบดอกไม้ในอ่างน้ำนั่นเอง ลายหลักนี้สตรีชาวไทยพวนศรีสัชนาลัยนิยมทอใส่กันมากที่สุด เนื่องจากเป็นลายที่มีความสะดุดตา และลายหลักนี้ต้องต่อด้วยซิ่นเข็น

 

ลายแปดขอ

  1. ลายแปดขอ

เป็นลายที่มีความเหมือนกับลายมนสิบหกแต่ย่อขนาดให้เล็กลง ลายหลักลายนี้ต้องต่อด้วยซิ่นอ้อมแดงจะเป็นนกแถว

 

ลายสี่ขอ

  1. ลายสี่ขอ

เป็นลายขนาดเล็ก มีเครื่องประกอบลายกระจุ๋มกระจิ๋ม ใช้สำหรับต่อผ้าซิ่นให้เด็กผู้หญิงตัวเล็กใส่

 

ลายสองท้อง

  1. ลายสองท้อง

เป็นลายหลักที่มีความหมายแปลกกว่าลายอื่น คือ ครึ่งหนึ่งของลายจะเป็นสีดำส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะเป็นแดง เวลาจะพุ่งกระสวยสองสี แต่จะไม่ปล่อยให้กระสวยพุ่งไปจนหมดขอบซิ่น เมื่อปล่อยสีดำมายังลายที่กำหนดแล้วจึงย้อนกลับ เพราะฉะนั้นสีดำจะมีเพียงครึ่งเดียว แล้วจะปล่อยกระสวยด้ายสีแดงมาด้วยวิธีเดียวกัน จึงต้องมีกระสวยสองอันในการทอหนึ่งผืนลายหลักนี้ต้องต่อด้วยผ้าซิ่นน้ำอ่อย

 

นอกจาก 9 ลายหลัก บนผ้าซิ่นตีนจกแล้ว ยังมีลายประกอบ ซึ่งแต่ละลายมีความหมายแฝงดังนี้

นกคุ้ม

          ลายนกคุ้ม เป็นลายที่มีความหมายถึงการอยู่คุ้มเหย้าคุ้มเรือนคุ้มผัวคุ้มเมีย บังเกิดความเป็นสิริมงคลต่อชีวิตคู่ การครองรักการครองเรือน แม่ลายขนาดเล็กนี้มักจะเป็นแม่ลายที่นำไปประกอบกับลายหลักอื่นๆ เกือบทุกลาย ซึ่งอาจจะสอดแทรกไว้ตรงที่ใดก็ได้ เนื่องจากความหมายอันเป็นสิริมงคลยิ่งนั่นเอง

 

นกหมู่

          ลายนกหมู่ เป็นลายที่มีความหมายถึงการไปเป็นหมู่เป็นพวก ไม่มีความขัดแย้งทางด้านความคิดและการกระทำ บังเกิดความสามัคคี แม่ลายขนาดเล็กนี้มักใช้เป็น ส่วนประกอบของลายเครือน้อยเท่านั้น ไม่นิยมที่จะนำไปประกอบลายหลักอื่นๆเพราะจะทำให้ไม่สวยงาม

 

นกแถว

          ลายนกแถว เป็นลายที่มีความหมายถึงการมีระเบียบในสังคมวงศ์วานว่านเครือ หรือที่เรียกกันว่าไปกันเป็นแถวเป็นแนว มีทิศทางในการประกอบการที่จะทำให้สังคมเจริญรุ่งเรืองในทางเดียวกัน แม่ลายขนาดเล็กนี้จะใช้เป็นองค์ประกอบของลายแปดขอเท่านั้น

 

นกคาบ

          ลายนกคาบ เป็นลายที่มีความหมายถึงการคาบดอกไม้ร่วมกัน หรือกินน้ำร่วมกัน ทางภาษาเหนือเขาเรียกว่ากินน้ำร่มเต้า อีกนัยหนึ่งคือการให้สัจจะวาจาที่จะครองรักร่วมกับผู้เป็นสามีอย่างจีรังยั่งยืนนั่นเอง

 

ดอกหมี่

          ลายดอกหมี่ เป็นแม่ลายขนาดเล็กที่นิยมนำมาประกอบกับหลายหลักทั่วไป ยกเว้นลายสองท้อง

 

โง๊ะ

          โง๊ะ เป็นแม่ลายขนาดเล็กที่นิยมนำมาประกอบกับลายหลักที่เรียกว่า ลายสองท้องเท่านั้น

 

ฟันปลา

          ลายฟันปลา เป็นลายที่สลับกันไปมาใช้ประกอบลายหลักเพื่อให้เกิดความงดงาม

 

สร้อยหมาก

          ลายสร้อยหมาก สร้อยพร้าว เป็นลายที่จะมีลักษณะคล้ายดอกหมากหรือดอกมะพร้าวที่ยังตูมอยู่ ลายนี้จะอยู่ติดแม่ลายใช้แทนลายเครือขอได้

 

ลายเครือขอ

          ลายเครือขอ เป็นลายที่ติดขนาบกับลายหลักทั้งบนและล่าง เน้นลายหลักให้เด่นชัด

 

เครือขอ
          ลายสร้อยสา เป็นลายขนาดเล็กที่จะอยู่ล่างสุดของตัวผ้าซิ่น เพื่อให้เกิดความอ่อนช้อยน่าสวมใส่ของผ้าซิ่นตีนจกนั่นเอง

 

ผ้าไทยถือเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของคนไทยในแต่ละภาค และเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของประเทศไทย แต่คงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าหากผ้าไทยจะตายไปพร้อมกับคนรุ่นเก่า ถึงเวลาแล้วที่เราควรช่วยกันอนุรักษ์ไว้ให้ผ้าไทยอยู่คู่กับคนไทยไปอีกนานแสนนาน

 

 

 

ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก http://krubomjung.blogspot.com/2012/10/9.html
ขอบคุณข้อมูลเรื่องผ้าซิ่นตีนจกจากร้านสาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ หากสนใจรายละเอียดผ้าซิ่นตีนจก หรือวิถีชีวิตของชาวไทยพวนศรีสัชนาลัย สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  http://www.sathorngoldtextilemuseum.com/

 

 

Leave a comment