กรุงเทพมีอะไรดี? คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า

  จะมีสักกี่แห่งบนโลก ที่คนเดินถนนต้องหลีกทางให้กับรถมอเตอร์ไซค์ที่ขับอยู่บนทางเท้า

          จะมีสักกี่แห่งบนโลก ที่รถแท็กซี่โก่งราคาค่าโดยสารกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

          และจะมีสักกี่แห่งบนโลก ที่เป็นศูนย์กลางของความเจริญ แต่ระบบการขนส่งเกิดการขัดข้องอยู่บ่อยครั้ง

          ที่นี่คือกรุงเทพมหานคร เมืองที่มีความชุลมุนพอๆ กับสายไฟที่ห้อยระโยงระยางจนแม้แต่บิลล์ เกตส์ยังพูดถึง ร้านอาหารริมถนนที่อยู่ร่วมกับความตระการตาของวัดวาอารามได้อย่างไม่ขัดเขิน แต่ความไร้ระเบียบนี้กลับกลายเป็นเสน่ห์อันทรงพลังที่ทำให้กรุงเทพฯ เป็นจุดหมายปลายทางที่น่าหลงใหลได้ไม่รู้จบ

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

          ที่กล่าวเช่นนี้เพราะสำหรับผู้มาเยือนต่างถิ่นแล้วความไร้ระเบียบนี้ช่างดูน่ารัก ท่ามกลางความเสี่ยงที่สายไฟอันระโยงระยางนั้นจะเกิดการลัดวงจร มักจะตามมาด้วยอาหารริมถนนที่อร่อยล้ำซึ่งเป็นหนึ่งในเกณฑ์การพิจารณาเมืองที่น่าท่องเที่ยวที่สุดในโลก และในกรุงเทพฯ มีถึง 17 ร้านที่ได้รับรางวัลดาวมิชลินจาก มิชลินไกด์ หนึ่งในนั้นมี ร้านเจ๊ไฝ ประตูผี เจ้าของเมนูไข่เจียวปูและราดหน้าทะเลอันโด่งดัง ตลาดนัดกลางแจ้งอย่างตลาดเยาวราช ตลาดกลางคืนถนนสีลมและถนนข้าวสาร เป็นต้น รวมถึงระบบโลจิสติกส์อันยอดเยี่ยมของมอเตอร์ไซค์รับจ้างทั่วเมือง ความช่างบริการและบรรยากาศที่เป็นมิตรจนไม่เกิดความรู้สึกแปลกแยกสำหรับชาวต่างชาติ นับเป็นผลผลิตสำคัญจากการเป็นเมืองท่าที่เปิดรับโลกกว้าง

           ตรงกันข้ามกับผู้อยู่อาศัย สภาพแย่ๆ ที่ได้พบในกรุงเทพฯ นั้นอาจทำให้รู้สึกเบื่อ และทำให้กระตือรือร้นที่จะเปิดกระทู้รีวิวการไปเที่ยวสูดอากาศบริสุทธิ์ที่ต่างจังหวัด หรือขยันทำงานเก็บเงินเพื่อไปสัมผัสหิมะที่ต่างประเทศ ทำให้นึกถึงสุภาษิตที่ว่า “คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า”

          สิ่งที่สามารถยืนยันว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งความวุ่นวายที่น่าปรารถนาและทรงคุณค่าได้เป็นอย่างดี คือ กรุงเทพฯ คว้ารางวัล “เมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก” มาหลายปีติดต่อกัน ดังนี้

          ปี พ.ศ.2548 – พ.ศ.2551 กรุงเทพมหานครคว้าที่ 1 ของการเป็น “เมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลกและที่สุดในเอเชีย” ได้รับการโหวตจากนักท่องเที่ยวและผู้อ่านของนิตยสารยอดนิยมในสหรัฐอเมริกาอย่าง เทรเวล แอนด์ เลชเชอร์ (Travel + Leisure)

          ปี พ.ศ.2553 – พ.ศ.2556 กรุงเทพมหานครยังคงครองแชมป์ของ “เมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก”

          ปี พ.ศ.2557 กรุงเทพมหานครตกลงมาเป็นอับดับที่ 3 โดยมีโตเกียวไต่ขึ้นอันดับ 1 แทน และถูกเสียมเรียบ เมืองท่องเที่ยวของกัมพูชาแซงขึ้นเป็นอันดับที่ 2

          ปี พ.ศ.2558 กรุงเทพมหานครไต่ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2 โดยมีลอนดอนนำเป็นอันดับที่ 1

          ปี พ.ศ.2559 กรุงเทพมหานครกลับมาครองแชมป์ “เมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก” อีกครั้ง

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

          ปี พ.ศ.2560 กรุงเทพมหานครยังคงครองแชมป์ของรางวัล “เมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก”

          โดยผู้ที่โหวตให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก ใช้เกณฑ์ในการพิจารณา 6 ประการ คือ

  1. สถานที่ท่องเที่ยว ทัศนียภาพ ความสวยงามและความร่มรื่น
  2. ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี
  3. อาหาร
  4. แหล่งจับจ่ายใช้สอย
  5. ความเป็นมิตรของผู้คน
  6. ความคุ้มค่าของเงิน หรือความพึงพอใจที่ได้รับจากการจับจ่าย

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

            แม้จะมีข้อเสียอยู่บ้าง แต่ข้อดีที่น่าภาคภูมิใจก็มีไม่น้อยเหมือนกัน หากถามว่ากรุงเทพฯ สามารถเป็นหน้าเป็นตาให้แก่ประเทศได้หรือไม่ กรุงเทพฯ ได้เป็นเมืองน่าท่องเที่ยวอันดับหนึ่งในโลก เพราะฉะนั้นในแง่ของความเป็นเมืองหลวงก็เป็นที่ยอมรับ และไม่ใช่การให้คะแนนจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นการโหวตจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในกรุงเทพฯ การเป็นเมืองน่าเที่ยวไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีปัญหาอะไรเลย แต่แสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาต้องได้รับความประทับใจจึงโหวตให้ คือมีทั้งจุดเด่นและจุดด้อย

           เมืองหลวงในบางประเทศเองก็อาจมีปัญหาเช่นกัน เพราะไม่มีหรอกเมืองที่ดีที่สุดในโลกชนิดที่ไม่มีปัญหาเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจราจรติดขัดหรือเรื่องมลพิษที่จะเห็นได้ว่าเป็นปัญหาหลักของกรุงเทพฯ ในขณะนี้ เพียงแต่ขนาดของปัญหามีความกว้างไม่เท่ากัน ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อความกว้างของปัญหาก็คือพลเมือง ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาร่วมของเมืองหลวงทั่วโลกที่ต้องแก้ไขคู่ขนานไปกับการพัฒนาในส่วนอื่นๆ

 

อ้างอิง

 

www.thairath.co.th

www.marketingoops.com

http://www.tcdc.or.th

www.posttoday.com

 

 

         

 

 

 

.

 

 

 

Leave a comment