ของฝากบ้านฉัน… “กะละแมโบราณ ล้านนาเชียงคำ”

        การออกมาเรียนต่างถิ่น มันก็ต้องมีช่วงเวลาที่เราต้องกลับบ้าน กลับไปเติมพลังรักจากครอบครัวที่ห่างไกลกันเป็นร้อยๆ กิโลเมตร ซึ่งเวลาเดินทางกลับบ้านทีไร เพื่อนๆ ก็มักจะถามหาถึง “ของฝาก” อยู่เสมอ ว่า “เฮ้ย กลับบ้านหรอ เอาของฝากมาฝากด้วยนะ” …แล้วของฝากที่ว่านั้น เราก็ต้องกลับมาคิดอีกทีว่า บ้านเรามันมีอะไรดี มีอะไรที่ Unique ไหมนะ?

          และหากพูดถึงของฝากที่บ้านของฉัน ที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา คงไม่มีอะไรดีไปกว่าของฝากประเภทของกิน และของฝากที่ขึ้นชื่อของอำเภอเล็กๆ แห่งนี้ คือ “กะละแมโบราณ” สูตรของชาวไทลื้อ

          เรื่องราวของขนมหวานอย่างกะละแมโบราณนี้ มีที่มาและความเป็นมาแต่ยาวนาน  โดยขนมหวานนี้เกิดขึ้นมาจากประเพณีงานบวช งานบุญของชาวไทลื้อสมัยโบราณที่มักนิยมทำขนมปาด กล่าวคือ เป็นขนมที่มีลักษณะคล้ายกับขนมชั้น แต่จะนิ่มกว่า  ซึ่งขนมปาดนั้นเก็บรักษาได้ไม่นาน แค่ 2 วัน ก็เน่าเสีย

          และต่อมาชาวไทลื้อได้รวมกลุ่มกันประมาณ 40 กว่าคน จัดตั้งกลุ่มทำขนมปาดและกวนขนมปาดขาย ซึ่งขายได้ดีมาก ทำให้มีแขกที่มาจากต่างจังหวัดซื้อเป็นของฝากกลับบ้าน แต่ก็เก็บได้ไม่นาน ทางกลุ่มที่ก่อตั้งจึงได้ปรึกษาเพื่อหาวิธีการที่จะเก็บขนมปาดให้มีอายุการเก็บรักษาให้นานขึ้น  โดยไม่พึ่งสารเคมี ช่วยกันหาวิธีทำขนมกวน ซึ่งมีลักษณะคล้ายขนมปาด

           โดยทำ “กะละแมโบราณ” ขึ้น ซึ่งใช้วิธีกวนเหมือนกัน ส่วนผสมคล้ายกัน ต่างกันตรงที่ขนมปาดใช้แป้งข้าวเจ้า กะละแมโบราณใช้แป้งข้าวเหนียว  ขนมปาดมีสีแดงจากน้ำอ้อย กะละแมมีสีดำ โดยใช้กากมะพร้าวเผา การทำกะละแมโบราณ เน้นย้ำที่ความหอมจากใบตอง และกรรมวิธีแบบโบราณ

          ทำให้ในปัจจุบัน “กะละแมโบราณ” เป็นของขึ้นชื่อที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากมีการสืบสานกลุ่มกะละแมโบราณ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP โดยกลุ่มแม่บ้านวิสาหกิจเกษตรกรบ้านดอนไชย ที่บ้านเลขที่ 62/1 หมู่ 5 หมู่บ้านดอนไชย ถนนพิศาลตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา และนอกจากจะสร้างรายได้ให้กับชุมชนแล้ว ยังสร้างความนิยม สร้างความเป็นจุดที่โดดเด่น เหมือนกับได้สร้าง Landmark ให้กับท้องถิ่นด้วย

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กาละแมโบราณ เชียงคํา

          สำหรับสูตรของกะละแมโบราณและวิธีการทำ มีดังนี้
ส่วนปริมาณของส่วนผสม (ในการทำกะละแมสูตรโบราณ ต่อ 1 ครั้ง)

  1. กะทิสด 4 กิโลกรัม
  2. น้ำตาลปิ๊บ1 กิโลกรัม
  3. แป้งข้าวเหนียว500 กรัม
  4. แป้งท้าว(แป้งหยาบ) 500 กรัม
  5. น้ำอ้อย 500 กรัม
  6. แบะแซทำขนม 1 กิโลกรัม

วิธีการทำกะละแมโบราณ

  1. กะทิสำหรับทำขี้โล้ นำมาเคี่ยวจนได้เป็นน้ำมันขี้โล้ เพื่อเอาไว้ทาถาด
    (น้ำมันขี้โล้ คือน้ำมันที่เป็นขี้ตะกอน หรือ กะทิที่เคี่ยวจนเป็นน้ำมันใช้ทำอาหาร)
  2. ผสมน้ำกะทิ น้ำตาลปี๊บ น้ำใบเตยเข้าด้วยกัน นำมากรองด้วยผ้าขาวบาง
  3. ผสมแป้งท้าวยายม่อมกับแป้งข้าวเหนียว แล้วผสมกับส่วนผสมข้อ 2 นวดให้เข้ากัน เติมน้ำปูนใส
    (แป้งท้าวยายม่อม คือ แป้งที่มาจากหัวมันชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า ท้าวยายม่อม
     และใช้แป้งนี้สำหรับทำขนมไทยที่ต้องการให้ความหนืด)
  4. เทส่วนผสมที่ได้ลงในกระทะทองเหลือง กวนจนล่อนออกจากกระทะเป็นก้อน
  5. เทส่วนผสมที่ได้ลงในถาดที่ทาด้วยน้ำมันขี้โล้ ทิ้งไว้ให้เย็น จากนั้นตัดเป็นชิ้นเล็ก
  6. นำมาห่อด้วยใบตองที่ล้างสะอาดเรียบร้อยแล้ว เป็นอันเสร็จขั้นตอน

          ชมภาพบรรยากาศการทำได้จาก :
https://www.youtube.com/watch?v=HagXQTE5F7w&t=2s

          หรือติดตามกลุ่มสินค้ากะละแมโบราณได้ทางเฟซบุ๊กที่มีชื่อว่า กะละแมโบราณ ของฝากจากเชียงคำ ที่คอยรับบริการส่งออกไปยังต่างจังหวัดอีกด้วย สามารถติดต่อบริการได้เลยทันที

          และนอกจากนี้ ยังมีรายการต่างๆ ที่สนใจในเรื่องของชุมชนท้องถิ่น ก็ได้เข้ามาทำรายการ เช่นรายการคาราวานสำราญใจ  หรือหนังสือพะเยานิวส์ ก็ได้เข้ามาสัมภาษณ์เพื่อลงคอลัมน์ในหนังสือ ซึ่งทั้งหมดล้วนช่วยให้มีการเผยแพร่ประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนไปได้อย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดการอนุรักษ์วัฒนธรรมของท้องถิ่นได้ในที่สุด

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กาละแมโบราณ เชียงคํา

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กาละแมโบราณ เชียงคํา

        สังเกตได้เลยว่า “กะละแมโบราณ” ที่บ้านฉัน ก็มีความนิยมไม่ใช่น้อย …แล้วแบบนี้คงต้องคิดได้แล้วว่า นี่แหละคือของ Unique ประจำท้องถิ่นบ้านฉันจริงๆ

        หากใครสนใจ หรือได้แวะมาเยี่ยมเยือน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ก็แวะมาเที่ยว มาชิมกะละแมโบราณของเรากันได้ ตามแผนที่ตรงนี้ได้เลย : https://goo.gl/maps/Sut5rvCarBB2

 

 

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
https://www.thairath.co.th/content/1089297
https://www.youtube.com/watch?v=HagXQTE5F7w&t=2s
https://goo.gl/maps/Sut5rvCarBB2
https://www.manager.co.th/Food/ViewNews.aspx?NewsID=9580000054047&Html=1&TabID=3&

 

         

 

 

 

 

 

Leave a comment